เมื่อไรควร “ประคบร้อน” หรือ “ประคบเย็น”

"การประคบ" เป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อช่วยลดและบรรเทาอาการปวดหรืออาการบาดเจ็บ โดยอุปกรณ์ประคบร้อนและเย็น (Cold-Hot Pack) มีลักษณะเป็นถุงพลาสติก ภายในบรรจุเจลคล้ายวุ้น จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและมักมีไว้ติดบ้าน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุถึงมีวิธีใช้ถุงประคบร้อน และเย็นเอาไว้ ดังนี้

 

การประคบเย็น

ใช้เมื่อไร: 

ไข้ ข้อเท้าแพลง รอยฟกช้ำจากการกระแทก เลือดกำเดาไหล

ใช้อย่างไร:

1.      ประคบทันทีบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บภายใน 24-48 ชั่วโมง

2.      นำถุงเจลที่แช่ในตู้เย็นหรือน้ำแข็ง จนถุงเจลมีความเย็นตามที่ต้องการมาประคบบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ

3.      ประคบบริเวณที่มีอาการ ประมาณ 10-15 นาที ไม่ควรใช้เวลานานกว่านี้ และไม่วางที่เดียวนานเกินไป

4.      ควรสวมปลอกถุงผ้า หรือห่อหุ้มด้วยผ้าขนหนู เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง

5.      หลีกเลี่ยงประคบบริเวณที่มีแผลเปิด เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

 

การประคบร้อน

ใช้เมื่อไร: 

ปวดหลัง ปวดประจำเดือน ปวดเข่า ปวดกล้ามเนื้อ

ใช้อย่างไร:

1.      ประคบหลังได้รับบาดเจ็บ หรืออาการฟกช้ำ 48-72 ชั่วโมง ห้ามประคบร้อนในบริเวณที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบเฉียบพลัน โดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรก

2.      นำถุงเจลที่แช่ในน้ำร้อนหรือน้ำที่ต้มเดือดแล้ว โดยห้ามต้มพร้อมกับน้ำ จนถุงเจลมีความร้อนตามที่ต้องการ ทดสอบอุณหภูมิที่จะนำมาประคบต้องไม่ร้อนเกินไป มาประคบบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ

3.      ประคบบริเวณที่มีอาการ ประมาณ 15-20 นาที โดยขยับเปลี่ยนบริเวณที่วางบ่อยๆ

4.      ควรสวมปลอกถุงผ้า หรือห่อหุ้มด้วยผ้าขนหนู เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง

5.      หลีกเลี่ยงประคบบริเวณที่มีแผลเปิด เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

 

ขอบคุณที่มา https://www.sanook.com/health/30361/